ลดขยะที่ใจ .. ลดขยะที่กาย ลดขยะให้โลก

“มีขยะไหมคะ” เด็กน้อยตัวจิ๋วร่างปุ๊กลุกขนาดกอดกำลังพอดี สูงไม่เกินห้าสิบเซ็นติเมตร

กึ่งเดินกึ่งลากถุงพลาสติกใสถามไถ่ขอขยะจากพ่อค้าแม่ค้า ไปทั่วตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์ม ณ สวนครูองุ่น

 

หากสังเกตด้วยตาเปล่า ปลายถุงพลาสติกใสบรรจุแก้วพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ไว้เพียงเล็กน้อย

 

เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เข้ามาเยี่ยมเยียน ซื้อขายในพื้นที่นี้ กว่าหลายร้อยคนต่อวัน

จำนวนขยะที่เหลือให้เห็น ก็เรียกว่าน้อยนิด จนพิจารณาได้ว่ามีขยะกี่ชนิด และจำนวนกี่ชิ้นกี่ใบ

ส่งผลให้การคัดแยกประเภทขยะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมง ทุกอย่างก็เสร็จสรรพ

 

ชีวิตของทีมงานเบื้องหลังเมื่อจบงานมหกรรมแห่งผู้คนหลากชนชั้นวัฒนธรรม

จึงลดความเหนื่อยล้า เหนื่อยใจ และมีความสุขขึ้นอีกมากโข ..

 

อาจเป็นงานแรกๆ ที่มีการจัดเตรียมพื้นที่ให้กะละมังสำหรับล้างถ้วยล้างจาน แถมยังถูกบรรจุที่ทางไว้ในแผนผังงานอย่างจริงจัง

 

ด้วยความตั้งใจเดียวอันแน่วแน่ในการเปิดตัวตลาดนัด อาร์ตแอนด์ฟาร์ม ครั้งที่ 4 ในเมืองใหญ่

คือ “ตั้งใจ” ให้เป็นตลาดที่ปลอดจากขยะร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม..แต่ด้วยความไม่เคยชิน

เมื่องานจบลง จึงยังมีขยะหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง…แต่ก็ถือว่าน้อยมากแล้วในความทรงจำ

 

ด้วยครูองุ่น มาลิก แบ่งปันพื้นที่สวนในบ้านให้เป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นสวนสวยที่มีจิตใจกว้างขวาง..

เปิดรับทุกผู้คนด้วยความเมตตา เป็นมิตร และไม่เลือกชนชั้นสูงต่ำ ดำขาว

 

ไยคนแปลกหน้า..ที่มาขออาศัยร่มเงาอันร่มเย็นเช่นพวกเราจะไม่ให้การเคารพในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ห้องน้ำห้องท่า ถูกจัดเวรทำความสะอาดทุกชั่วโมง ด้วยสัญญาใจต่อกันของทุกร้านค้า ที่ต้องทำหน้าที่สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำความสะอาดเหมือนดั่งบ้านของตัวเอง เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจ

ให้สวนยังคงความสะอาดเหมือนเดิม ก่อนที่ทุกคนจะเหยียบย่างเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่

เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่คณะรักเร่ทุกคนกล่าวย้ำตรงกัน  ณ วันแรกที่รู้ว่า สวนครูองุ่นคือจุดหมายปลายทางของการเร่ในครั้งต่อไป..

 

ก่อนเริ่มงานหน้าเพจหนูโจ อาร์ตแอนด์ ฟาร์ม เชิญชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจและรับผิดชอบในตัวเอง

โดยเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่น การคิดค้นวิธีลดขยะ ก่อนพาตัวเองมาถึงตลาด

 

เป็นการทบทวนตัวเองอย่างง่ายๆ ก่อนออกจากบ้าน ต้องพกขวดน้ำ กล่องข้าวและถุงผ้า ถ้าหากถูกใจผลิตภัณฑ์ชิ้นไหน ต้องไม่เรียกร้องขอถุงบรรจุภัณฑ์ และพร้อมที่รับข้าวของเหล่านั้น มาเก็บไว้ในถุงผ้าหรือภาชนะที่เตรียมมาด้วยความเต็มใจ ร้านค้าก็เช่นกัน ทั้งผลิตภัณฑ์และหีบห่อต้องก่อให้เกิดประโยชน์และสามารถใช้ซ้ำได้ไม่รบกวนธรรมชาติจนเกินพอดี

 

หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลงลืมพกขยะเข้ามาในงาน ลูกค้าทุกคนสามารถส่งคืนขยะของคุณฝากไว้กับพ่อค้าแม่ค้า

ที่เป็นเช่นนี้..เพื่อฝึกการคิดถึงคนอื่น และเพื่อให้เกิดจิตสำนึกว่า ขยะนั้นเป็นภาระที่ผู้อื่นต้องแบกรับแทนเรา

และนั่นคือความจริง และความเป็นจริงที่มากกว่านั้นคือธรรมชาติและโลกกำลังเป็นผู้แบกรับภาระเหล่านี้อยู่ด้วยความไม่เต็มใจ

 

“การลดขยะ” จึงต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน ผ่านการฉุกคิดและทบทวน ด้วยจิตใจอันละเอียดอ่อนต่อขยะหนึ่งชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมือเรา นำไปสู่การปฏิบัติที่กาย ให้กายคุ้นชินกับการไม่ทิ้งอะไรง่ายๆออกจากมือ และคำนึงถึงผลที่จะส่งต่อไปยังผู้อื่นและโลก

 

ให้ขยะหนึ่งชิ้นสอนชีวิตให้รู้จักการใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่ามากที่สุด

 

ให้การทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีคุณค่ามากกว่าแค่การทำให้สูญหายไปเมื่อหมดคุณค่า

 

และเพื่อทำความรู้จักกับวัฒนธรรมแห่งการไม่ผลิตขยะเพิ่ม จนกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันเฉกเช่น การแปรงฟัน

อาบน้ำและส่องกระจก

 

เพื่อให้ “แฟชั่นแห่งการรับผิดชอบในตัวเอง” เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ และสร้างแก่นแท้แห่งชีวิตของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคน สัตว์ ท้องฟ้า แม่น้ำ ทะเล ผืนดิน และพลาสติก อย่างสมดุลและไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

 

“ตลาดปลอดขยะ”  จึงเป็นเพียงการเริ่มต้นในการสร้างพื้นที่ทดลองเพื่อปลอบประโลมโลกที่หนักอึ้งให้คลายความกังวลลงบ้าง ดีที่สุดแล้วเท่าที่มนุษย์หลายร้อยคนในพื้นที่  250 ตารางวา ตลอดระยะสองวันจะทำได้..

 

Share Button