“น้ำใสใจจริง” บนเส้นทางมิตรภาพ..เราจะคิดถึงกันและกันเสมอ

ฉันติดตามอ่านงานเขียนของ ว.วินิจฉัยกุลมาตั้งแต่เด็ก จนโตเป็นสาวและตอนนี้กำลังเข้าวัยผู้ใหญ่กลางคน หนังสือที่ฉันหยิบมาอ่านเสมอๆเพื่อเติมไฟในตัวเอง คือนวนิยายเรื่อง “น้ำใสใจจริง” ฉันหลงรัก
บรรยากาศของมหาวิทยาลัยภูธร กับตัวละครที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกของที่นั่น ความไม่พร้อมในทุกประการของความใหม่ ใหม่ทั้งสถานที่ ใหม่ทั้งอาจารย์ ใหม่ทั้งลูกศิษย์ คนงานและภารโรง ดูเหมือนว่าทุกสิ่งยังรอการเปิดตัวเพื่อให้ทุกคนร่วมสร้างความทรงจำที่ดีให้แก่พื้นที่แห่งนี้

 

ยิ่งได้รู้ว่านวนิยายเรื่องนี้แต่งจากเรื่องจริง บรรยากาศจริงด้วยแล้ว ก็ยิ่งพาลให้ฉันอยากรู้อยากเห็นว่าในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ปัจจุบันคือที่ใด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึก ฉันอยากพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆกับเขาบ้าง อยากได้รับบรรยากาศของความแปลกใหม่เกินคาดเดา ที่ดูเหมือนว่าจะลำบาก แต่ก็สนุกสนาน และสร้างประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

 

ว่ากันว่าเหตุการณ์เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในนวนิยาย “น้ำใสใจจริง” เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 2510 กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีชื่อว่า“ยุคสายลมแสงแดด” คือกล่าวกันว่า ในช่วงพ.ศ. 2510-2516 ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาไม่ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมือง ความเป็นไปของสังคม คลั่งแฟชั่น งานรื่นเริงสนุกสนาน และใช้ชีวิตสนุกไปวัน สไตล์เพลงที่ตัวละครนิยมอยู่ในยุคสมัยช่วงปลาย 60’s ซึ่งช่วงนั้นมีทั้ง Swing/Big Band, Rock&Roll, Folk Rock, R&B และยุคต้นของ Disco และในไทยก็จะเป็นเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง วงสตริงคอมโบ้ และโฟล์คซอง

 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากเรื่องราวที่อยู่ในเนื้อหาของนวนิยาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นกระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต,หรือกางเกงเอวสูงขาบาน ผู้ชายไว้ผมยาว แต่งตัวจัดจ้าน การร้องเพลงลูกกรุง และวงดนตรีสตริงคอมโบ้ ตามยุคสมัย ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องเช่น ครีม หนิง รุ้ง ทัดภูมิ คือแบบฉบับของวัยรุ่นที่ทันสมัยที่สุดในยุคสมัยนั้น

 

ว.วินิจฉัยกุล เล่าถึงชีวิตของสมาชิกรุ่นบุกเบิกทุกคนอย่างละเอียด บรรยายทำให้เราเห็นภาพการใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นในแต่ละวัน แต่ละเทอมอย่างตั้งใจ รับรู้ถึงความลังเลสับสน เพราะที่นี่ทั้งห่างไกล การเดินทางยากลำบาก สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่มี ไฟฟ้าน้ำปะปาก็ติดๆดับๆ แถมห้องหอที่นอนก็ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อน ความเป็นส่วนตัวจึงไม่ค่อยมี ในปีแรกของทุกคนจึงดูขลุกขลัก และมีปัญหาสารพันในทุกวัน ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่อาจารย์เองก็ต้องปรับตัวปรับใจกับการใช้ชีวิตอยู่มากเช่นกัน เพราะส่วนมากเป็นคนกรุงเทพเคยชินกับความสะดวกสบายจนบางครั้งก็ท้อแท้อยากกลับไปใช้ชีวิตสบายๆเช่นเดิม

เมื่อผ่านปีแรกไปแล้ว หลายคนจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อที่เดิม ไปเอนทรานซ์ใหม่เพื่อเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นหนึ่งปีในรั้วมหาวิทยาลัย และการเป็นคนรุ่นแรก รุ่นบุกเบิกทำให้ทุกคนตัดสินใจใหม่ ถึงแม้ว่าจะสอบติดในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพแล้วก็ตาม ในวันเปิดเทอมของชั้นปีที่ 2 ทุกคนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกผูกพันกับทุกอย่างที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมา เนื้อหาในแต่ละตอนสอดแทรกเรื่องราวมิตรภาพของความเป็นเพื่อน ความต่างในทุกรูปแบบทั้งนิสัย ฐานะ และพื้นฐานครอบครัว แต่สุดท้ายความต่างกลับหลอมรวมให้เกิดเรื่องราวสนุกสนานน่าจดจำมากมาย

 

ที่ขาดไม่ได้คือเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาว ซึ่งผู้เขียนเล่าได้อย่างแนบเนียน ดูเหมาะสมไม่เกินวัย แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความรักที่จริงใจต่อกัน แม้ว่าทุกคนจะมีชีวิตอิสระ ห่างไกลจากครอบครัว แต่ความสัมพันธ์กลับอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควร ทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของตัวละครพระเอกนางเอก โจม-ครีม ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้จักควบคุมอารมณ์และคิดไกลถึงอนาคต ไม่ใช่เพียงความรักที่ฉาบฉวย จนแม้กระทั่งทุกคนต่างเรียนจบ ทั้งคู่มีงานทำที่มั่นคง จึงค่อยตัดสินใจบอกรักและแต่งงานกัน รวมถึงความรักที่คาดไม่ถึงของทัดภูมิและอ้อมที่ทำให้เราประหลาดใจและอมยิ้มไปกับทั้งคู่ พล็อตคู่กัดที่รักกันในตอนท้ายยังทำหน้าที่ได้ดีเสมอมา ไหนจะเพื่อนๆคนอื่นๆ ที่อยู่ในเรื่องราว ทุกคนต่างมีที่มาที่ไปแตกต่างกันไปตามเส้นทางที่เลือก และไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งเดียวที่พวกเขารู้สึกเช่นเดียวกัน คือ “น้ำใสใจจริง”ที่มีให้แก่กันตั้งแต่วันแรกที่พบเจอกัน จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ในวันที่ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหรืออุปสรรคต่างๆที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน ความทุกข์มันตอกย้ำว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องอาศัยจิตใจอันแข็งแกร่ง ฉันมักจะกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ตอนยังเป็นหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยชีวิตฉันมีความสุขมากแค่ไหน ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เวลาของช่วงชีวิตเช่นนั้น หาซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และที่สำคัญมันคือเชื้อฟืนชั้นดีที่ช่วยสุมไฟสร้างชีวิตเราให้โชติช่วงอย่างวันนี้..

 

“เป็นเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต

เมื่อเราผ่านพ้นความไร้เดียงสาอย่างเด็กๆมาแล้ว

แต่ยังไม่เคยชินกับความขมขื่นของเวลาแห่งความเป็นผู้ใหญ่

เรามีวันเวลาระหว่างกลาง-วันของวัยหนุ่มสาว

เอาไว้เป็นความทรงจำที่ดีที่สุดของเรา”  

ว.วินิจฉัยกุล

 

“น้ำใสใจจริง เป็นบทประพันธ์ของ ว.วินิจฉัยกุล (คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) ที่เขียนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง ในการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ ม.ศิลปากร ทับแก้ว (วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) ตามประวัติกล่าวว่า ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ขยายวิทยาเขต ม.ศิลปากร จากวังท่าพระ ไปที่พระราชวังสนามจันทร์ ใช้บริเวณพระราชวังของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตนี้ เมื่อ พ.ศ.2512 คุณหญิงวินิตาได้บรรจุเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนครั้งแรกที่นั่น”

 

Share Button