การอ่าน คือเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา” หลายเล่มโปรด หลากปัญญา จาก 5 นักการเมืองไทย

“การอ่าน คือเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา” ยังคงเป็นเรื่องจริงที่น่าอัศจรรย์ ยิ่งได้อ่านหนังสือดีมากเท่าไหร่ ปัญญาที่ดีก็ย่อมชูช่อเบ่งบานมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเมื่ออยากมีปัญญาที่ดี ก็ต้องเลือกหนังสือที่ดีมาอ่าน ซึ่ง
“หนังสือที่ดี” นั้นไม่ได้หมายถึง “หนังสือที่เขียนด้วยถ้อยคำดี ๆ ภาษาสวยงาม” หากแต่เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้เราได้ข้อคิด เกิดมุมมองใหม่ ๆ สะท้อนปัญหาและก่อให้เกิดปัญญาที่จะนำไปใช้กับชีวิตได้จริง การ “เลือกหนังสือ” จึงไม่ต่างจากการ “เลือกคบคน” บางเล่มอ่านแล้วตกหลุมรักทันที บางเล่มอ่านตั้งแต่ต้นจนจบก็ยังไม่มีมุมไหนที่ทำให้ประทับใจได้เลยแม้แต่น้อย บางเล่มอ่านไม่ทันจบก็ไม่อยากอ่านต่อแล้ว บางเล่มต้องใช้เวลาอ่านทวนอยู่หลายรอบกว่าจะเข้าใจและชอบพอ ฯล แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ในหนังสือดี ๆ หนึ่งเล่ม ย่อมทำให้ผู้อ่านเกิดปัญญาที่ดีและแนวคิดที่เหมาะสมต่อชีวิตตนมากกว่า 1 อย่าง เหมือนกับหนังสือเล่มโปรดของ 5 นักการเมืองจากทั้ง 5 พรรค ที่พวกเขายกให้เป็นหนังสือที่ช่วยเปลี่ยนความคิดและสร้างคุณค่าให้กับชีวิตกันเลยทีเดียว และนี่คือข้อดีที่พวกเขาได้รับจากหนังสือเล่มโปรดเหล่านั้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ (ผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์)
เล่มโปรด : ทฤษฎีความยุติธรรม (A Theory of Justice)
ผู้เขียน : จอห์น รอลส์ (John Rawls))/ ประเภท : ทฤษฎีปรัชญาเศรษฐศาสตร์

“หนังสือเปลี่ยนชีวิต, ‘จอห์น รอลส์’ เปลี่ยนความคิด”

“มีหนังสือหลายเล่มที่เปลี่ยนชีวิตผม ตอนเด็ก ๆ ชอบอ่านนิยาย แต่โตมาชอบอ่านแนวเศรษฐศาสตร์ สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ผมมีโอกาสอ่านหนังสือแนวนี้หลายเล่มด้วยกัน มันเลยตอกย้ำสังคมที่ผมอยากสร้าง และหนังสือ “ทฤษฎีความยุติธรรม” (A Theory of Justice) ของ “จอห์น รอลส์” ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ช่วยหล่อหลอมความคิดทางการเมืองของผม “รอลส์” เป็นนักปรัชญาที่มีความคิดเรื่อง “โลกที่ยุติธรรมเป็นอย่างไร” เขาเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการศึกษา เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้ผมคิดถึงคำว่า “ยุติธรรม” จริง ๆ นั้นมีความหมายอย่างไร ซึ่งก็ทำให้ผมได้คิดว่า “โลกที่เราออกแบบเองนั่นแหละคือโลกที่ยุติธรรมสำหรับเรา” การอ่านหนังสือช่วยสร้างมุมมองและไอเดียใหม่ ๆ ให้กับเรา ช่วยเปิดโลกอีกด้านที่เราอาจจะไม่เคยรู้ ก็อยากชวนให้ทุกคนหันมาอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ นะครับ”

ภูวพัฒน์ ชนะกูล (ผู้สมัครส.ส.พรรคเสรีรวมไทย)
เล่มโปรด : Baki (ผู้แต่ง : เคสุเกะ อิตางากิ), โคโค สลัดจอมลุย (เรื่องและภาพ : ฮิเดยูกิ โยเนฮาระ), แฮรี่ พอตเตอร์ (ผู้เขียน : เจ.เค. โรว์ลิง)/ ประเภท : การ์ตูน, แฟนตาซี

“หนังสือ คือเอนเตอร์เทนเมนท์ที่ดีของชีวิต”

“ในชีวิตของคนทุกคนมีเรื่องให้ต้องคิด ต้องทำ ต้องรับผิดชอบมากมาย และแน่นอนว่าหลายครั้งเราเครียดและเหนื่อยล้ากับสิ่งที่ต้องเผชิญเหล่านั้น หนังสือจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผมผ่อนคลายได้ เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ที่ดีอย่างหนึ่งของชีวิต แนวที่ผมชอบก็เลยจะต้องอ่านแล้วสนุก ทำให้ผ่อนคลาย ซึ่งก็จะเป็นหนังสือการ์ตูนหรือแนวแฟนตาซีเป็นส่วนใหญ่ อย่างเรื่อง “บากิ, โคโค สลัดจอมลุย และแฮรี่ พอตเตอร์” เป็น 3 เรื่องที่ผมชอบมาก และอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองอ่านกัน นอกจากข้อดีที่ผมบอกข้างต้นแล้ว ยังได้เรื่องของจินตนาการอีกด้วย จินตนาการนี่แหละที่จะทำให้เราต่อยอดความคิดดี ๆ ได้หลากหลาย ก็อยากฝากให้ทุกคนอ่านหนังสือกันเยอะ ๆ นะครับ เราจะได้รับสิ่งดี ๆ จากโลกของอ่านหนังสืออย่างแน่นอน”

กัญจนา ศิลปอาชา (หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา)
เล่มโปรด : มรณสติ/ ประเภท : ธรรมะ

“หนังสือธรรมะ เปรียบดั่งพระธรรมนำทาง”
“หนังสือที่ชอบอ่านจะเป็นแนวธรรมะค่ะ เพราะอ่านแล้วทำให้เราเข้าใจความจริงแท้ของชีวิตมนุษย์และพ้นทุกข์ได้จริง แต่จะไม่ยึดติดว่าต้องเป็นของครูบาอาจารย์ท่านไหนนะคะ จะเลือกเล่มที่ถูกกับจริตของตัวเองมากกว่า ซึ่งก็จะชอบแนวที่ทำให้เรามีสติ และบ่มเพาะปัญญาของเราให้เกิดขึ้นได้เอง เหมือนอย่างหนังสือเรื่อง “มรณสติ” เป็นเล่มที่อ่านแล้วชอบมาก จะสอนเรื่องการเตรียมตัวก่อนตาย ซึ่งในทางพุทธศาสนาบอกไว้ว่า จิตสุดท้ายเป็นจิตสำคัญที่จะกำหนดชาติภพของเรา การมรณสติจะสอนให้เราไม่ประมาทในชีวิต เพราะเราจะตายเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่การเตรียมตัวตายให้พร้อมด้วยจิตที่ผ่องใสก่อนตายนั้นสำคัญ หนังสือเล่มนี้เป็นบทความขนาดสั้นของครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน อาทิ ท่านพุทธทาสภิกขุ, หลวงปู่ช้าง กนฺตสาโร, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นต้น เป็นอีกเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ”

ณหทัย ทิวไผ่งาม (รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ)
เล่มโปรด : หลังรอยยิ้ม เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้ (โดย : เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี)/ ประเภท : สารคดี

“ได้อ่านหนังสือ “หลังรอยยิ้มฯ” เมื่อครั้งได้ไปทำงานที่ภาคใต้ค่ะ ตอนนั้นนำโครงการสอนภาษาอังกฤษไปสอนเด็ก ๆ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อ่านแล้วรู้สึกชอบ เป็นบทบันทึกชีวิตและชะตากรรมของผู้ที่ได้รับผลกระจากสถานการณ์ชายแดนใต้ ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรง ความเจ็บปวด และความสูญเสีย ขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็ชวนเราตั้งคำถามและค้นหาความหมายของ ‘ความหวัง’ แม้วันนี้หลายคนพอจะยิ้มออกได้บ้าง แต่หลัง ‘รอยยิ้ม’ เหล่านั้นคือ ‘รอยช้ำ’ ของชีวิต และการต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไป เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนอย่างเดียวเท่านั้นนะคะ ยังพูดถึงเรื่องธรรมะ พูดถึงชาวพุทธ ชาวมุสลิมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งหลายเรื่องสิ่งที่เราได้ยินมานั้นมันไม่ใช่ความจริง พอพูดถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้เราก็กลัวแล้ว น้อยคนที่อยากจะไป แต่จริง ๆ แล้วธรรมชาติของ 3 จังหวัดนี้มีความสดอยู่มาก ต้นไม้ ทะเล และมิตรภาพที่ดีของผู้คน วิถีชีวิตที่งดงาม ผู้คนเขียน ๆ ได้ดีมาก สามารถถ่ายทอดถ้อยคำออกมาได้ดี อ่านแล้วรู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย ก็อยากชวนทุกคนมาอ่านหนังสือเล่มนี้กันนะคะ เราจะได้เข้าใจพี่น้องที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มากขึ้น รวมถึงอยากชวนให้อ่านหนังสือกันเยอะ ๆ ค่ะ เพราะการอ่านเป็นการช่วยเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจให้เรามากขึ้นค่ะ”

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” (หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป)
เล่มโปรด : แก่นพุทธศาสน์ (รวบรวมปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุ)/ ประเภท : ธรรมะ

“แก่นพุทธศาสน์ เป็นหนังสือที่ผมประทับใจมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายให้ผมคิดในคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมธรรมะของพระพุทธทาสภิกขุที่ได้ไปปาฐกถา ณ โรงพยาบาลศิริราชรวม 3 ครั้งระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2505 และยังได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ.2508 จากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาาติ อีกทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย “แก่นพุทธศาสน์” พูดถึงใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนาในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็น “ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา หัวใจของพุทธศาสนา คือสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น, ความว่าง ธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ฆราวาส คือเรื่องสุญญตา, วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง การปฏิบัติเพื่อความว่างมี ๓ โอกาส…ปรกติ กระทบ จะดับจิต และยอดปรารถนาของมนุษย์ จิตวุ่นทำการงานเป็นทุกข์ จิตว่างทำการงานสนุกไปหมด..” ซึ่งก่อนที่ผมจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมได้เข้าใจในพระพุทธศาสนาอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติของพิธีกรรม อาทิ การเข้าวัด สวดมนต์ สะเดาะเคราะห์ หรือทำบุญปล่อยนกปล่อยปลาอะไรต่าง ๆ แต่พอได้อ่าน “แก่นพระพุทธศาสน์” แล้วก็เข้าใจว่า จริง ๆ แล้วที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้นเป็นการสอนธรรมมะ สอนให้เรารู้เรื่องทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ สอนให้รู้วิธีดับทุกข์ ไปจนถึงหนทางแห่งการดับทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปเจ็บปวดกับอดีตหรือกังวลกับอนาคต ซึ่งอ่านอย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ ต้องนำมาปฏิบัติด้วย ก็อยากให้ลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันครับ”

“ปัญญา” เกิดได้จากการได้ยิน ได้ฟัง ได้คิด ได้วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ รวมถึงการได้ “อ่าน” ก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เกิดปัญญา และพัฒนาให้ปัญญานั้นงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป

Share Button