ตามหาแรงบันดาลใจ ผ่านทัศนะของ “วีรพร นิติประภา” นักเขียนซีไรต์ 2 สมัย ผู้มอบดาบวางลงบนบ่าแก่นักประดิษฐ์วาทะกรรมรุ่นใหม่

จริงๆแล้วคนเราขับเคลื่อนชีวิตด้วยอะไรกัน..

“ทะเลปีละ 6 แห่ง
ภูเขาปีละ 3 ลูก
เหล้าวัน 8 แก้ว
บุหรี่วันละซอง
หรือคำพูดดีๆ วันละหนึ่งประโยค….”

ในแต่ละวันมวลของความขยันและขี้เกียจทำงานต่างกันไป ทุกวันนี้ฉันนั่งเขียนงานได้บ้างไม่ได้บ้าง
บางวันฝนตกหนัก..เสียงเม็ดฝนดังกลบเสียงผู้คนที่ฉันกำลังถอดเทป บางวันแดดดี ..เหลือบไปเห็นผ้าในตระกร้าก็ต้องลุกขึ้นมาซักผ้าประชดแดดสักหน่อยบางทีกำลังได้ที่ จินตนาการบรรเจิดรื่นไหล คอมพิวเตอร์เจ้ากรรมก็หมดแรง ปิดหน้าจอตัวเองไปอย่างไร้เหตุผล ที่ผ่านมาฉันไม่รู้ว่าจะใช้อะไรขับเคลื่อนตัวเองได้ นอกเสียจากตัวเอง

น้ำสองลิตรต่อวัน ช่วยทำให้ชีวิตไม่แห้งแล้งจนเกินไป ระหว่างทำงานเราเดินไปมาต่อสู้กับความคิดภายในและภายนอกตัวเราฉันไม่รู้จะขับเคลื่อนตัวเองด้วยอะไร นอกเสียจาก การออกไปรดน้ำต้นไม้นอกบ้าน การเดินไปเดินมาแล้วรอให้กลุ่มคำแว๊บเข้ามาในหัวสมอง….

ชีวิตนักเขียนผูกติดอยู่กับแรงบันดาลใจไฟฝัน..บางวันอารมณ์ขึ้นๆลงๆเช่นพระจันทร์กว่าจะรวบรวมสติสัมปัญชัญญะเขียนงานให้เสร็จสิ้นแต่ละชิ้น บางครั้งใช้เวลาเพียงเสี้ยววัน บางครั้งใช้เวลาสี่ห้าวัน บางทีก็สุดแต่ใจจะไขว้คว้า..จนกระทั่งฉันได้ฟังคำบอกเล่าของนักเขียนหญิงผู้คว้ารางวัลซีไรท์ติดกันสองครั้งสองคราอย่างพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา ปัญหาความคิดติดๆดับๆของฉันก็พลันรื่นไหล เพราะงานเขียนไม่ใช่แค่งานเขียนอย่างที่เข้าใจเสมอไป..แต่ทุกคำที่เขียนมันอาจเปลี่ยนชีวิต ความคิดของผู้อ่านได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ..หรือไม่ก็ไม่สามารถหยั่งรู้สิ่งใดจากถ้อยคำเหล่านั้นเลย..ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่หน้าที่ของนักเขียน..หากแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่มีสิทธิตัดสิน

และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรา เมื่อครั้งโครงการอ่านสร้างชาติ เปิดบ้านเชิญ พี่แหม่ม “วีรพร นิติประภา” มาเปิดวงเสวนาในหัวข้อ “ชีวิต คิด เขียน” ซึ่งในขณะนั้นพี่แหม่มควบตำแหน่งนักเขียนซีไรต์ประเภทนวนิยายครั้งแรกในปี 2558 จากนวนิยายเรื่อง ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ และหลังจากนั้นอีกไม่นานเธอคว้ารางวัลซีไรต์ประเภทนวนิยายอีกครั้งในปี 2561จากนวนิยายเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่านี้อีกแล้ว.. การได้โอกาสฟังทุกถ้อยคำผ่านความคิด และชีวิตของพี่แหม่ม จึงถือเป็นคุณูปการแห่งชีวิตที่เหลือต่อจากนี้..และทุกถ้อยทุกคำถูกถอดอย่างละเอียด เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำในความทรงจำที่ถูกบรรจุไว้ลึกที่สุด ดั่งสมบัติล้ำค่าสำหรับใช้ต่อเติมไฟฝันเพื่อเติบโตเป็นนักเขียนที่เขียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในใจของผู้อ่าน ..ไม่มากก็น้อย

คำถาม : “ชีวิต คิด เขียน” ในแบบฉบับของพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา หมายความว่าอย่างไร

ตอบ : สำหรับเราการเขียนคือการหนีตัวเอง คือกูไม่ไหวแล้ว ฉันจะต้องออกมาข้างนอก ฉันจะต้องออกจากตัวฉันเอง เป็นอะไรที่อธิบายยาก แต่ก็ถูกกระตุ้นด้วยอะไรหลายๆอย่าง ถ้าใครที่เคยอ่านสัมภาษณ์คงได้รู้ว่าเหตุการณ์ปี 53 เป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่ทำให้รู้สึก และหันไปบอกผัวว่าฉันจะเขียนเรื่องนี้ เขียนยังไงก็ไม่รู้เพราะว่าไม่ได้เขียนมาสามสิบกว่าปีมีความรู้สึกว่า มันไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อคุณไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คุณเซ็ตนิยาย คุณวางสถานการณ์ คุณเขียนนิยายเพราะคุณจะได้เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้
แบบนั้น ผ่านนิยายรักนี่ล่ะ ผ่านตัวละคร โดยตั้งสมมติฐานที่หนึ่ง ว่าด้วยมายาคติ ซึ่งอาจจะไม่ผิดก็ได้ไม่ถูกก็ได้
ไม่รู้ แต่เราเซ็ตโจทย์เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาชีวิตของเราเอง ณ ตอนนั้น สุดท้ายพบว่ามายาคติไม่พอ ต้องมีเรื่องประวัติศาสตร์ด้วย จึงออกเล่มที่สอง

คำถาม : เราเขียนหนังสือเพราะเรามีเรื่องสมบูรณ์แล้วในการพูด หรือเขียนเพื่อจะได้คุยกับตัวเอง

ตอบ : อย่างหลัง การสร้างสถานการณ์ขึ้นมาแล้วโยนตัวละครลงไป แล้วดูว่าเขาจะคุยเรื่องนี้ยังไง จะเข้าใจกับเรื่องนี้ยังไง พอทำไปสักสองเล่มก็พบว่า เรื่องที่เราต้องคิด กลับกลายเป็นโดมใหญ่ๆนอกเหนือจากมายาคติ ไปสู่ประวัติศาสตร์แล้วเรากำลังจะเล่าเรื่อง ความจริงหรือไม่จริง ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น หรือความจริงลวง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องของประวัติศาสตร์แล้วอาจจะเป็นเรื่องอื่นก็แล้วแต่เราจะสร้างโจทย์ขึ้น เพื่อหาคำตอบที่เราสนใจ

คำถาม : เพราะพี่เป็นคนมีคิดแบบนี้หรือป่าวจึงทำให้ไม่มีเพื่อน

ตอบ : เราไม่มีเพื่อนอยู่แล้ว เพราะว่าเราเป็นชนชั้นกลางในเมือง เราใช้ชีวิตแบบนั้นมา พอถึงจุดหนึ่งเราพบว่าเราไม่มีเพื่อนจริงๆ เราไม่ได้เข้ากันได้กับวิธีคิดของคนรอบตัวเรา ทั้งการเมือง ไม่ได้พูดถึงเรื่องสีนะ ไม่ว่าจะดำหรือจะขาว ไม่ได้ยากเกินไปที่จะเป็นเพื่อนกับคนที่อยู่ที่ฝั่งหนึ่ง แต่การสิ้นคิดของมึงนี่คือ การไม่พยายามมองอะไรในมุมกว้าง หรือไม่พยายามพูดจา ยากตรงนั้น เหมือนไม่มีอะไรคุย มึงเชื่อแบบนั้นก็เชื่อไป ซึ่งก็เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ เป็นเรื่องที่เคยพูดกับเด็กรุ่นใหม่ว่า พี่ขอโทษว่ะ พี่ขอโทษจริงๆ ที่ปล่อยให้พวกคุณต้องเติบโตในประเทศที่มีไร้สาระและเลอะเทอะแบบนี้ เรากำลังให้สิ่งนี้เป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไปแล้วเราไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ ตอนนี้ไม่มีสงครามอยู่แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจบ

คำถาม : ทั้งสองเรื่อง พี่มีวัตถุดิบที่ละเอียดละออ เนื้อหามันก็ไม่ใกล้เคียงกัน อย่างในเรื่องพุทธศักราช เรื่องตอก ซอก ซอยในเยาวราช ดูมีความลึกอีกแบบหนึ่ง วัตถุดิบพวกนี้พี่เอามาได้อย่างไร แล้วเวลาเขียนมาได้อย่างไร

ตอบ : เดินสิคะ พี่เดิน เข้าใจว่าตอนเขียนพุทธศักราชนี้ พี่ไปโผล่ตลาดน้อย อาทิตย์ละสองสามวัน ทำตัวเป็นนักท่องเที่ยว เดินดูถนน ดูโน้นดูนี่ แอบฟังชาวบ้านคุยกัน มีเรื่องในครอบครัวตัวเองบ้าง ครอบครัวเพื่อนบ้าง แต่งเอาเองบ้าง อ่านจากอินเทอร์เน็ตบ้าง พี่มีวิธีค้นอินเทอร์เน็ตแบบแปลกๆ คนจะถามว่าไปรู้ได้อย่างไร ก็เข้าไปในห้องแชทคนแก่ ถามเรื่องอดีตตอนเกิดสงคราม ทุกคนก็เล่าบ้านฉันเคยอยู่ตรงนี้ เสื้อแขวนอยู่ตรงนั้น ระเบิดลงวิ่ง มีรูกระสุน อีกสองวันมีข้อความแบบนี้ คือมีเสื้อของพ่อแขวนอยู่หน้าบ้าน แล้วมีรอยรูกระสุน ตกลงใครเป็นต้นตอของเรื่อง ก็จะมีการเล่าไปเรื่อยๆแล้วก็จะเจอ เราก็จะค้นคีย์เวิร์ดไปเรื่อยๆ เรื่องน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองจีน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ คาดว่ามีคนตายถึงล้านคนจากการระเบิดแผ่นกั้นแม่น้ำ เพื่อสกัดญี่ปุ่นเข้ามา แล้วก็ไม่มีรัฐบาลไหนเข้ามารับผิดชอบ เหมาะมากกับการเอามาเล่าประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันเป็นอย่างนี้ คนตายล้านคนยังหายไปเลย จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ไม่เคย ไม่ใช่แค่รัฐบาลจีน เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง ความจริงคือมันไม่อยาก แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เราทำงานให้มันสนุก พอเราสนุก ข้อมูลมันก็หลั่งไหลมาเอง

ถาม : เวลาเขียนเพื่อหลอกล่อให้คนอ่านติดตาม ระดับความถี่ของการหลอกล่อ จะต้องอยู่ในระดับไหน หมายถึงว่าหนังสือมันเล่มใหญ่จะหลอกล่ออย่างไรให้คนอ่านอยู่กับเราตลอดเวลา

ตอบ(พี่แหม่): ลองถามคนที่อ่านแล้วดูว่าหลอกล่อทั้งเล่มไหม

ผู้อ่านท่านหนึ่ง : คือ พี่แหม่มจะมีวิธีเล่า เอาจริงๆนะ ผมไม่ชอบสำนวนพี่แหม่มเลย มันกึกๆกักๆขี้ไม่สุดสักที ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆนะ แต่สิ่งที่ดึงผมได้ เพราะพี่แหม่มผูกปมสนุก อีกอย่างคือผมชอบภาพพี่แหม่ม เวลาอ่านประโยคกึกๆกักๆ สำหรับผมนะ ผมเห็นภาพ แล้วก็งงว่าไอ้ห่า มึงเขียนได้อย่างไรให้กูเห็นภาพ แต่ก็เป็นเสน่ห์ให้ผมตามไป เหมือนเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีเสห่น์เลยแต่ก็มีบางอย่างให้ผมตามไป พี่แหม่มเป็นอย่างนั้นในงานเขียน แต่ตัวตนผมไม่ทราบ เป็นงานที่อ่านแล้วเหนื่อย งานจบช้า เป็นงานที่เราต้องยอมเลย

ตอบ(พี่แหม่ม) : เราอาจจะโตมาในยุคสมัยที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีไลน์ เพราะฉะนั้นเราจะอ่านหนังสือ นั่งอ่านเงียบๆ นั่งอ่านไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็จบ แต่ยุคสมัยนี้คนจะบอกว่า อ่านยาก อ่านช้า ก็ปิดๆซะบ้าง เดี๋ยวก็อ่านจบ เดี๋ยวไลน์ก็ดัง เดี๋ยวฟีดก็ไหล จะไปจบยังไง ของพี่พี่ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองเช็คไลน์ เช็คอะไรเลย ไม่งั้นต้องกลับมาอ่านใหม่

ถาม : เป็นงานเขียนที่เรียกร้องคนอ่านอย่างมากให้อยู่กับหนังสือของฉันนะ

ตอบ : คนอ่านเรียกร้องน้อยเกินไป อ่านก็อ่าน ทำไมคิดว่าอ่านแล้วต้องเปิดทีวี คุยกับแฟน แชตกับชู้ มันจะไปได้อะไร ตั้งหน้าตั้งตาอ่านไป เรื่องก็มีอยู่แค่นี้

ถาม : ผมอยากถามว่า คาดหวังขนาดไหนกับคนรุ่นใหม่ ที่มีศัตรูของชีวิตที่มาแย่งชิงเวลาเยอะไปเยอะเหลือเกิน เพราะยุคก่อนทีวีก็น้อยกว่า แต่ยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมันเยอะมาก จึงทำให้สมาธิคนเราน้อยมาก คาดหวังกับคนอ่าน กับสังคมการอ่านในประเทศแบบนี้อย่างไรบ้าง

ตอบ : พี่แค่เผชิญโชคดีที่ได้รางวัล มันก็เลยถูกอ่าน คนอ่านเยอะมาก เป็นหนึ่งในหนังสือที่ถูกอ่านมากที่สุดเล่มนึง พอหลังจากนั้นแล้วถัดมาก็จะถามกันว่าอ่านหรือยัง ..เชยว่ะ เพราะว่าขายกันเอง นักเขียนไม่มีสิทธิ์คาดหวัง คุณมีสิทธิแค่ทำงานให้เสร็จ จบ ขึ้นเล่มใหม่ เสร็จ จบ คุณจะไปหวังอะไร รางวัลก็ไม่มีสิทธิ์หวัง ระหว่างทำที่หวังอยู่อย่างเดียวคือเมื่อไหร่จะเสร็จ ช่วยเสร็จสักทีเถอะ กูจะตายแล้ว สามปีผ่านไป มันจะจบไหม เรารู้แค่นั้น เราไม่ได้รู้มากไปกว่านั้น แต่ว่าในขณะเดีวกันเราก็พยายามเต็มที่จะเขียนงานให้มีเสน่ห์ดึงดูดใจ มีภาษากึกๆกักๆ สวยงามมากพอที่คุณจะวางไม่ได้ ง่ายก็ต้องไม่ง่ายเกินไป เพราะถ้าคุณเขียนง่ายเกินไป ระหว่างอ่านคนอ่านก็จะไม่ได้ใช้สมอง เมื่อไม่ได้ใช้สมองเขาก็ไม่รู้ว่า แมสแซสที่เราวางไว้ใต้หนังสือ ด้านลึกลงไปอีกมันคืออะไร หลายๆอย่างเราต้องให้เขาคิดเอง ถ้าเราไปบอกเค้าหมด หนังสือมันจะมีอะไร ฉะนั้นระหว่างทางคุณต้องกล้าพอสมควรให้เขาได้กลับไปคิดและอ่านใหม่ และทำความเข้าใจกับประสบการณ์ดั่งเดิมของเขา เราไม่มีสิทธิเอาประสบการณ์ของเรายัดเข้าไปในหัวใคร มันต้องเกิดวุฒิปัญญาเองด้วยตัวเขา ซึ่งมันยากถ้าเราจะอยู่ตรงนี้

สิ่งที่หนึ่งที่มั่นใจคือ พี่มั่นใจว่าพี่เลือกกลุ่มนักอ่านที่ถูกต้อง ในบางครั้งที่คุณเขียนหนังสือคุณไม่ได้ตั้งไว้ก่อนว่าคนอ่านจะคือใคร แต่พี่แน่ใจว่าพี่ไม่ได้สื่อสารกับคนแก่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พี่กำลังเบื่อคนรุ่นเดียวกัน แล้วคนแก่กว่ามากฉันจะไม่เสียเวลาพูดกับมึง พวกมึงมันสมองเสียสมองเน่า พี่จะพูดกับเด็ก จะทำงานกับเด็ก เผอิญโชคดีที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มเด็ก ไร่ไปจนอายุ 30-35 ปี เป็นกลุ่มคนที่อ่านหนังสือ ป่วยการที่จะเขียนหนังสือให้คนอายุ 50 อ่าน เขาไม่อ่านกันแล้ว หูตาก็ไม่ดี เล่นไลน์ส่งดอกไม้ คุณสื่อสารกับคนที่เป็นกลุ่มอ่านใหญ่ เด็กมีเวลามากกว่า อ่านหนังสือมากกว่า เรื่องจริงคือพออายุยิ่งเยอะก็ไม่อ่าน ชอบดูละครเข้าใจง่ายกว่า

ถาม : พี่มองว่ากลุ่มคนอ่านคือ อายุ 18-35 ปี ผมเข้าใจว่าพี่ต้องไปแย่งชิงกับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่าน และคุ้นเคยกับโทรศัพท์ โจทย์นี้มันไม่ยากกว่าหรอ กับการจับกลุ่มคนอายุประมาณ 50 ที่ชอบอ่านและเลือกอ่านงานที่มีคุณภาพ คำถามที่สองคือ งานที่ผมอ่านถือว่าแพรวพราวนะ แต่ผมอ่านได้รวดเดียวจบ เวลาเริ่มเขียนเราจะกลัวว่าคนอ่านจะอ่านไม่จบ ทิ้งซะก่อน ทำให้เราอยากเขียนอะไรที่รวบๆเร็วๆโดยเฉพาะคนอ่านไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เราจะยิ่งรวบแต่เราไม่กล้าเขียนแบบนี้แน่ๆ

ตอบ : พี่ไม่ได้ชิงกับอินเทอร์เน็ต แต่แย่งชิงกับกลุ่มที่อ่านนิยายรักอยู่แล้ว มันมีกลุ่มพวกนี้เป็นตลาดที่ใหญ่ในตลาดหนังสือ อ่านนิยายวาย มันมีกลุ่มนี้อยู่ พี่ถึงเริ่มด้วยการเขียนนิยายรัก มีหนังเพลง นางเอกจะโบฮีเมี่ยนหน่อย พระเอกเล่นดนตรีตามบาร์ ส่วนภาษาจะยากหรือง่ายไม่เป็นปัญหา ขึ้นอยู่กับบก. บก.จะบอกคุณว่าไม่รู้เรื่อง ถึงแม้ว่าจะสวิงสวาย คือเราอยู่ในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตมาสามสิบกว่าปี แน่นอนวรรณกรรมเพื่อชีวิตจะเป็นภาษาที่เรียบง่ายที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ พอหมดยุคเพื่อชีวิต ก็เข้าสู่ยุคมูราคามิซึ่งเป็นภาษากราฟฟิค โล่งๆ เวิ้งๆ ลอยๆ พอมาถึงตรงนั้นก็เป็นมินิมอล ภาษาจะนิ่งๆโล้นๆไป คิดอยู่อย่างเดียวกว่าเราทำภาษาสวยได้ เยอะได้ และซ้อนประโยคได้ ได้ก็ได้ เสียก็เสีย ไม่มีคนอ่านก็เจ๊ง ก็เท่านั้น เลิกเขียนไปทำอย่างอื่น ขายหมูปิ้ง แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณใช้ภาษาได้ คุณเอาอยู่ น่าสนใจ ก็ผ่าน และบ้านเมืองก็ขาดภาษาสวยๆมาตั้งแต่รงค์ วงศ์สวรรค์ ถ้ายังอ่านงานอย่างรงค์ได้ งานพี่ก็ง่ายกว่ามาก เวลาที่เขียนหนังสือ บางครั้งที่มันเวิ่นเว้อเพราะต้องการความรู้สึกด้วย ในเนื้อหาสาระเรารู้เท่ากันหมด แต่กลายเป็นว่าคุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ หรือรู้สึกแค่เวลามันเกิดขึ้นกับตัวคุณ แต่ไม่รู้สึกเวลาที่เกิดขึ้นกับคนอื่นก็เลยเน้นเรื่องความรู้สึกมากกว่า

ถาม : ประสบการณ์งานด้านการโฆษณามีส่วนในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของพี่หรือไหม อย่างไร

ตอบ : พี่เรียนรู้อย่างหนึ่งจากงานโฆษณา พบว่าเหมือนขายขี้กระป๋อง การรับรู้จริงๆคือการรับรู้ด้วยใจ การเขียนหนังสือคือการทำให้คนอ่านเห็นด้วยใจ ไม่ใช่เห็นด้วยตา หรือเหมือนมีคนถามว่าอะไรเป็นจุดผลักดันให้คุณมายืนอยู่ตรงนี้มันคือการรับรู้ด้วยใจไม่ใช่เนื้อเรื่อง การทำงานคือการทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นจุดลากพาเรามาถึงจุดๆนี้ ในทุกๆด้านทั้งสังคม การเมือง ชีวิต ความรัก ทุกอย่าง คุณเคยสงสัยว่าทำไมรักคนๆนี้ เป็นคำถามที่น่าถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราในทุกๆวันที่เกิดขึ้นกับเรา

นักเขียนต้องเป็นนักถามพี่เป็นนักเขียนที่ไม่สนใจว่าถ้าคุณอ่านจบสองเล่ม คุณจะเข้าใจอะไรไหม คุณจะรู้คำตอบหรือไม่เป็นปัญหาของคุณ หรือนักเขียนจะรู้คำตอบแล้วมาบอกคุณ คุณจะเชื่อได้อย่างไร แต่เมื่อคุณอ่านหนังสือ คือเรามาเรียนรู้ด้วยกัน หรือบางทีเราก็อยู่ในประเทศที่การอ่านไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของการถาม เวลาที่คุณเรียนหนังสือไม่ได้สอนให้คุณมีคำตอบมากกว่าหนึ่ง คือคุณไม่ได้ถูกสอนให้ถาม แค่นี้ก็บรรลัยแล้วไปไหนไม่ทันโลกแล้ว

คำตอบไม่ได้แค่หนึ่ง เมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจว่าคำตอบมันมีแค่หนึ่งคือมันผิดแล้ว คำตอบมันมีมากกว่านั้น ในโลกที่ทุกอย่างเป็นพหุ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วัฒนธรรมก็เป็นวัฒนธรรมรวมหมู่ ประเทศก็ไม่มีเส้นแบ่ง มีแต่ในแผนที่ ทุกอย่างมันรวมกันหมดแต่เรากลับไม่ถามคำถามอะไรเลย ยังอยู่ในเส้นแบ่งแบบโบราณ เส้นแบ่งหลังสงครามโลก ประเทศเป็นแบบนี้ วัฒนธรรมเป็นแบบนี้ แล้ววัฒนธรรมผสมล่ะ วัฒนธรรมทางใต้

ถาม : ทำไมหนังสือจึงมีความสำคัญกับสังคมไทย

ตอบ : การอ่านไม่ได้สอนคนให้เรียนรู้ สอนแต่ให้เราเรียนจบรับปริญญา ทำงาน แต่งงานมีลูก เพราะฉะนั้นเมื่อคุณเรียนจบแล้วก็ไม่ต้องอ่าน ก็เป็นเจ้านายโง่ๆ เลี้ยงลูกน้องโง่ๆถัดไปเรื่อยๆ เพราะทัศนะเรื่องการเรียนรู้มันไม่มี ทำไมญี่ปุ่น ฝรั่งอ่านเยอะ อ่านตลอดชีวิตเพราะมันไม่เชื่อว่ามันรู้ทุกอย่าง แต่คนไทยถูกทำให้เชื่อว่าจบได้ปริญญาแล้วเลิกอ่านได้แล้ว

หรือเขาอาจจะไม่เพลิดเพลินในการอ่าน นิยายทำได้ดีกว่า การถูกสอนให้รู้จักความรื่นรมย์ของเรื่องราว ต้องอ่านหนังสือเรียนให้จบก่อนถึงอ่านหนังสืออ่านเล่น หนังสืออ่านเล่นมันเลวอย่างไร ไม่เคยสอนเด็กว่าชอบอะไรไปทางนั้น อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี สังคมเราเป็นแบบนั้น เด็กโตมาโคตรไม่สนุก ในที่สุดก็มีประชากรที่อ่านหนังสือไม่แตก อ่านหนังสือไม่สนุก อ่านหนังสือไม่รื่นรมย์ เพราะว่าเขาไม่ได้อ่าน ป.อินปาลิต เล่นเกมส์ก็ไม่ได้ อ่านหนังสืออ่านเล่นก็ไม่ได้ ต้องอ่านแต่หนังสือเรียน ขอโทษหนังสือเรียนเขียนได้เลวมาก ไม่ได้สังคยานามาพันปีแล้ว เด็กเลยไม่ชอบอ่าน อ่านหนังสือเรียนแล้วมันจะอ้วก พออ่านหนังสืออ่านเล่นแล้วแม่ด่า เลยไม่อ่านเลย เป็นเยาวชนที่น่าสงสาร ไม่มีงานอดิเรก ไม่มีความสุข เกิดเป็นเด็กประเทศนี้น่าสงสาร ….

เมื่อบทสนทนาจบลง และเมื่อคุณอ่านจนจบ สำหรับบางคนเรื่องราวทั้งหมดนี้อาจจะไม่ได้สร้างการเรียนรู้ใหม่อะไรเลย สุ่มเสียงและสำเนียงที่ได้ยินได้ฟังคงคล้ายกับอารมณ์ตอนกำลังนั่งฟังแม่บ่นเรื่องราวในชีวิตประจำวันทั่วๆไป หากแต่ฟังให้ลึกซึ้งลงไปอีกสักหน่อย เราอาจจะเข้าใจถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด กับคำยากๆ ที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในหน้าฟีดเฟสบุ๊ค หากคุณสงสัยไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรหรือคำไหนในบทสนทนานี้ อยากให้คุณลองเสริชอินเทอร์เน็ตดู แล้วคุณจะพบเรื่องราวที่เป็นมากกว่าเรื่องเล่าจากปากต่อปาก..หลังจากนั้นคุณจะทำความเข้าใจหรือปล่อยมันทิ้งไป..ก็สุดแต่ใจจะปรารถนา..

Share Button