“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) “จอห์น สไตน์เบ็ก” วรรณกรรมดีเด่นของนักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ.1962 “เราทุกคนมีเพื่อน แต่จะมีสักกี่คนที่เป็น…เพื่อนแท้”

ตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้ว ฉันเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะมาก เรียกว่าเยอะจนนับไม่ถ้วนว่ามีกี่คนกันแน่ ฉันมีเพื่อนหลายกลุ่ม หลายก๊ก หลากนิสัยใจคอ หลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยอนุบาล สมัยประถม สมัยมัธยม สมัยมหาวิทยาลัย สมัยทำงาน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนที่ทำงานก็ย่อมมีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ยังไม่รวมเพื่อนของเพื่อน ของเพื่อน ซึ่งในแต่ละวันหยุด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวันของเพื่อน แทบไม่มีวันของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
แต่พอโตขึ้น ได้เห็นโลกมากขึ้น ได้เรียนรู้คนมากขึ้น ฉันจึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วชีวิตเรามีเพื่อนไม่เยอะหรอก ที่เราคิดว่าเยอะนั่นไม่ใช่เพื่อน แต่นับรวมเอา “คนรู้จัก” มาไว้ด้วย เพราะความหมายของคำว่า “เพื่อน” นั้น ไม่ใช่แค่คนที่ไปกินไปไปเที่ยวด้วยกัน หรือติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำเท่านั้น

แต่ความหมายของคำว่า “เพื่อน” ลึกซึ้งเกินกว่านั้น..

หลังผ่านการถูกหักหลังจากเพื่อนที่รักคนหนึ่ง ที่ฉันนับเขาเป็นเพื่อนรัก มารู้อีกทีว่าฉันไม่ใช่ความหมายของคำว่า “เพื่อน” สำหรับเขา ก็วันที่สายไปแล้ว และในช่วงเวลาเดียวกัน ฉันก็ได้สูญเสียเพื่อนรักคนหนึ่งด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ตกเขาระหว่างการเดินทางไปจังหวัดน่าน โลกของฉันถล่มทลายลงในเวลาเดียวกัน ความเจ็บปวดเสียใจโถมซัดอย่างไม่ปราณี เพื่อนคนหนึ่งจากเป็น…อีกคนจากตาย นับจากนั้นมันทำให้ฉันระแวดระวังในความสัมพันธ์ต่อผู้คนที่อยู่รอบข้าง และเริ่มแยกแยะคำว่า “เพื่อน” และ “คนรู้จัก” ออกจากกันได้ อย่างที่ไม่เคยคิดจะทำมันมาก่อน

แต่ก็นั่นแหละนะ … เรามักจะคิดอะไรบางอย่างได้ ก็เมื่อได้ความเจ็บปวดได้ละเลงและทิ่มแทงจนพรุนไปแล้วทั้งด้วยกันทั้งนั้น

ช่วงนั้นฉันใช้เวลาว่างในวันหยุดด้วยการเข้าร้านหนังสือ อ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อไม่ต้องคิดถึงการสูญเสีย แทนการนัดกินเที่ยวกับเพื่อนเหมือนที่เคยทำ และหนังสือแปลเล่มเล็กกะทัดรัดที่ชื่อ “เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) ผลงานของนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง “จอห์น สไตน์เบ็ก” ก็ได้เข้ามาเยียวยาความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้น

“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) คือวรรณกรรมดีเด่นที่แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มาแล้วหลายประเทศทั่วโลก และได้ตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2513 เรื่องราวเล่าถึงมิตรภาพของชายหนุ่มสองคนที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งคือชายร่างเล็ก เต็มไปด้วยความกระฉับกระเฉง ฉลาด และเป็นนักวางแผน เขาชื่อ “จอร์จ มิลตัน” อีกคนคือ “เลนนี่ สมอลล์” ชายร่างใหญ่ไซส์ยักษ์พละกำลังมหาศาล ผู้พิการทางปัญญา เชื่องช้าและงุ้มง่าม แต่มีโลกที่ใสบริสุทธิ์ ไม่เคยคิดร้ายกับใคร ฉันหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเพราะสะดุดตาชื่อหนังสือ “เพื่อนยาก” ชื่อที่ดูเหมือนจะตั้งง่าย ๆ แต่ฟังแล้วลึกซึ้งกินใจ และเมื่อพลิกอ่านเนื้อหาบนปกหลังที่ห่อหุ้มพลาสติกใสเอาไว้ ฉันก็ตัดสินใจควักเงินซื้อทันทีอย่างไม่ลังเล

“แก่นแท้แห่งมิตรภาพพึ่งพา
ความใฝ่ฝันร่วมกันถึงที่ดินทำกิน
และชีวิตวันพรุ่งที่ดีกว่า
ท่ามกลางความแล้งไร้ จิตใจหยาบเขลา
ฤามนุษย์คิดเพียงแค่จะเอาตัวรอด
ตลอดกาล”

“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “จอร์จ มิลตัน” และ “เลนนี่ สมอลล์” ผู้ชายสองคนที่มีความแตกต่างกันทั้งร่างกายและความคิด หากแต่ลึก ๆ แล้วพวกเขามีความใฝ่ฝันที่คล้ายกัน นั่นก็คือชีวิตที่เป็นอิสระและมีความสุข ทั้งคู่ออกเดินทางเร่ร่อนหางานทำไปเรื่อย ๆ ตามชะตากรรมของผู้ยากไร้ หลังได้เข้าไปเป็นคนงานที่ไร่แห่งหนึ่ง ทำให้พวกเขามีความหวังและความฝันคุโชนขึ้นอีกครั้ง ทั้งคู่จะตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อไร่ของตัวเองให้ได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง พวกเขาก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเสียที หากแต่เรื่องราวมันไม่ง่ายดายเหมือนอย่างที่คนต่ำต้อยด้อยค่าในสังคมวาดหวัง เมื่อการอยู่รวมกันกับผู้คนอีกมากมายภายในไร่แห่งนั้น ผู้คนซึ่งมีความคิดอ่านแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกชายเจ้าของไร่อย่าง “เคอร์ลีย์” ที่ชอบหาเรื่องคนไปทั่ว หรือเมียของเขาที่ชอบหว่านเสน่ห์กับคนงานในไร่ “ผู้เฒ่าแคนดี้” ชายชราผู้เป็นภารโรงของไร่ พิการแขนด้วนและมีสุนัขชราพิการเป็นเพื่อนคู่ใจ หรือคนงานผิวสีอย่าง “ครุกส์” ที่ยอมจมชีวิตของตนอยู่กับความด้อยศักดิ์และสิทธิ์ที่เจ้าตัวน้อมรับโดยดุษฎี เรื่องราวร้อนระอุที่ไร่แห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ “เลนนี่ สมอลล์” ได้พลั้งมือฆ่าเมียของ “เคอร์ลีย์” ตาย ก่อนจะหลบหนีไปด้วยความหวาดกลัวสุดขีด เหมือนเด็กน้อยวัย 5 ขวบที่กลัวพ่อแม่จับได้เมื่อทำความผิด “เคอร์ลีย์” โกรธแค้นและหมายเอาชีวิต “เลนนี่ สมอลล์” ให้ได้ เขาระดมคนงานทั้งไร่ออกตามหา และสุดท้ายชายร่างยักษ์พิการปัญญาก็ถูกยิงตาย หากแต่ผู้ลั่นกระสุนไม่ใช่ “เคอลีย์” แต่เป็น “จอร์จ มิลตัน” เพื่อนยากของ “เลนนี่” นั่นเอง

กระสุนนัดนั้นของ “จอร์จ มิลตัน” ได้ทั้งฝังร่างและปลดปล่อยเพื่อนร่างยักษ์ของเขาให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน และความหวาดกลัวแสนสาหัส ดั่งลาวาที่กำลังจะระเบิดออกมาในไม่ช้า แต่มันเป็นกระสุนนัดเดียวกันที่ทำให้ “จอร์จ มิลตัน” เหมือนคนตายทั้ง ๆ ที่ยังหายใจ เขาได้สูญเสียเพื่อนคนเดียวในชีวิตไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ…

อะไรที่ทำให้ “จอร์จ มิลตัน” ต้องจบชีวิตเพื่อนรักของเขาด้วยมือตัวเอง เหตุผลที่อ่านแล้วสะเทือนอารมณ์ในซีนนี้ทำเอาฉันกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และสะอื้นไห้เหมือนตัวเองกำลังเป็น “จอร์จ มิลตัน” ฉันไม่ควรเล่าทั้งหมดในตรงนี้ เพราะเหตุผลที่ “จอร์จ มิลตัน” ทำ ควรเป็นเหตุผลที่คนอ่านควรจะได้ซึมซับรับรู้ด้วยตนเอง

บางส่วนบางตอนที่ “จอร์จ มิลตัน” ได้พูดไว้กับ “เลนนี่ สมอลล์” แม้จะเป็นไดอะล็อกง่าย ๆ แต่มันลึกซึ้งกินใจสำหรับฉันไม่น้อย และยังชอบทุกครั้งที่ได้อ่าน

“เราไม่เหมือนคนงานพวกนั้น เรามีอนาคต เรามีคนที่จะพูดคุยด้วย เราไม่ต้องไปพึ่งบาร์เพื่อกินเหล้า เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน” และ….

“มีไม่กี่คนนักหรอกที่ร่อนเร่พเนจรไปที่ไหน ๆ ด้วยกัน ฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่อาจเป็นเพราะโลกบ้า ๆ นี้ คนต่างกลัวกันและกันนั่นเอง”

“จอห์น สไตน์เบ็ก” ผู้เขียน “เพื่อนยาก” ไม่ได้แค่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือการต่อสู้ดิ้นรนของสองหนุ่มผู้ยากไร้นี้เท่านั้น เขาได้กล่าวเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “เนื้อในมนุษย์ล้วนขาดพร่องด้วยกันทั้งนั้น เช่นนี้แล้วจึงต่างต้องเสาะหาส่วนที่ขาดหายเติมใส่ชีวิตตนเพื่อมิให้แห้งเหี่ยว เปลี่ยวเหงา แต่เอาเข้าจริงแล้วจะไปหามาจากไหน ในเมื่อมนุษย์เราแต่ละคนต่างมีข้อจำกัด ดังนั้นมีก็แต่จำต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนร่วมโลกที่ขาด ๆ เกิน ๆ พอกันแก้ขัด ด้วยอย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีใครเอาเสียเลย”

สิ่งที่ฉันได้จากการอ่าน “เพื่อนยาก” คือการเข้าใจความหมายของคำว่า “เพื่อน” มากขึ้น…เพื่อนไม่จำเป็นต้องนิสัยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามกันทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องมาจากฐานันดรที่เท่าเทียมกัน ฐานะเท่ากัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ๆ หากแต่ “เพื่อน” ต้องเป็นคนที่มีความ “จริงใจ” ต่อกัน เพราะคำว่าจริงใจคำเดียวนี่เองที่จะทำให้เรามีคุณค่าสมกับการมี “เพื่อน” และเราเองก็อยากจะเป็น “เพื่อนยาก” สำหรับใครสักคนด้วยเหมือนกัน

ฉันอ่านเรื่อง “เพื่อนยาก” จบไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หยิบจับจนกระดาษชำรุดและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ที่ซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก และตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ฉันจะชอบ “เพื่อนยาก” มากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่ได้หาเล่มใหม่มาทดแทนเสียที เพราะที่ผ่านมาฉันเฝ้าแต่จมอยู่กับการคิดถึงเพื่อนรักที่ฉันได้สูญเสียไปแล้วทั้งสองคน คนหนึ่งจากเป็น อีกคนจากตาย…

แต่มาวันนี้ ฉันได้ตัดสินใจสั่งซื้อหนังสือ “เพื่อนยาก” ผ่านทางเว็บไซต์หนังสือแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉันสัมผัสได้ว่า ฉันมีเพื่อนแท้ และเพื่อนยากอยู่ในชีวิตหลายคน และก็หวังอยากให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความแนะนำหนังสือเล่มนี้ ได้ลองอ่านหนังสือชื่อ “เพื่อนยาก” นี้ดู แล้วคุณจะหลงรักมัน และได้รู้คุณค่าและความหมายของคำว่า “เพื่อนยาก” มากยิ่งขึ้น

ชื่อหนังสือ : เพื่อนยาก (Of Mice and Men)
ผู้เขียน : จอห์น สไตน์เบ็ก (John Eenst Steinbeck)

Share Button