“อ่าน” หนังสือไม่ใช่แค่อ่าน “หนังสือ”

ในวันหนึ่งที่ฉันพาตัวเองเข้าไปอยู่ในร้านกาแฟสี่เหลี่ยมผืนผ้าของมูลนิธิกระจกเงา ฉันพบกันชั้นหนังสือแผงใหญ่บนกำแพงทั้งสามด้าน สายตากวาดไปยังหนังสือนับพันเล่ม ที่ล้วนแต่เป็นหนังสือดีๆที่ได้รับบริจาคมาจากผู้อ่านใจดีทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ของโครงการอ่านสร้างชาติ ฉันได้ยินชื่อเสียงและเป็นแฟนคลับของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ในช่วงสองสามปีหลังนี้ ติดตามรับฟังคลิปวีดิโอที่เผยแพร่อยู่ตามโซลเซี่ยลมีเดีย และตามไปฟังอาจารย์ตอบปัญหาต่างๆให้แก่ผู้คนตามรายการโทรทัศน์ ซ้ำยังตามอ่านบทสัมภาษณ์ในแง่มุมอื่นๆที่อาจารย์มักโยงมาเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาได้อย่างแนบเนียน และเรียบง่าย แต่ฉันยังไม่เคยได้อ่านหนังสือเดินสู่อิสรภาพของอาจารย์
เลยสักครั้ง ในระหว่างที่ฉันกำลังเดินสำรวจและพิจารณาหนังสือนับพันเล่มบนชั้น พลันสายตาก็ไปสะดุดกับหนังสือเล่มหนากว่าห้าร้อยหน้าที่มีชื่อเรื่องว่าเดินสู่อิสรภาพ มีภาพและชื่อของอาจารย์ประมวลอยู่บนหน้าปก มันแทรกตัวอยู่ในชั้นหนังสืออย่างเงียบเชียบ พอฉันละจากกำแพงด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ก็สบตากับหนังสือเล่มนี้อีก คิดในใจเมื่อเวลาถึงพร้อม ฉันคงได้อ่านหนังสือเล่มนี้สมใจ สอบถามพี่ๆเพื่อนๆถึงการขอยืมหนังสือไปอ่านก็ได้รับคำตอบว่าให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้ หลังจากหยิบหนังสือใส่กระเป๋ากลับบ้านฉันใช้เวลาเพียงสามวันเพื่ออ่านและอ่าน และตลอดสามวันของการอ่าน ฉันหยิบๆจับๆอ่านแล้ววางไม่ค่อยลง ด้วยเนื้อหาในหนังสือน่าติดตามและน่าค้นหาประหนึ่งว่าตัวฉันเองก็กำลังค้นหาอะไรบางอย่างจากการอ่านอยู่เช่นกัน

ระหว่างที่ฉันกำลังอ่านหนังสือเรื่อง เดินสู่อิสรภาพ ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในช่วงท้ายๆน้ำตาก็พลันไหลโดยไม่รู้ตัว เชื่อว่าความปิติได้เกิดขึ้นและงอกงามในใจฉันแล้ว มันสงบ เงียบ ง่าย และงาม เหมือนกำลังตกอยู่ในภวังค์ใดภวังค์หนึ่ง ณ ขณะที่ลมหายใจกำลังเข้าออกโดยไม่ต้องภาวนาพุทธ โธ เพื่อกำกับสมาธิ

“สมาธิ” จากการอ่านช่วยให้ฉันค้นพบความจริงอันประเสริฐของชีวิต แม้เพียงชั่วครูชั่วยาม แต่มันก็สว่างกระจ่างแก่เนื้อตัวร่างกายอันยึดติดไม่ได้นี้ อาจารย์ประมวลพาฉันเดินทางผจญภัยไปกับท่านด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาฉันถือว่าเป็นแฟนคลับของอาจารย์คนหนึ่ง อาศัยการฟังเป็นหลัก โดยถือว่าคำพูดทุกคำของอาจารย์นั้นผ่านประสบการณ์ และการกลั่นกรองมาหลายชั้นหลายขั้นตอนนัก แต่หากฟังง่ายและช่วยให้ตอบข้อสงสัยในใจในหลายประเด็นปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์ หมายถึงความเข้าใจในทางธรรมในขณะที่เราเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในรัก โลภ โกรธ หลง

ทุกถ้อยคำที่อาจารย์ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในใจของฉันอย่างมากมาย บางช่วงบางตอน ฉันอ่านวนไปวนมาเพื่อทำความเข้าใจในหลักธรรมที่ปรากฏขึ้นจากความจริงที่อาจารย์ได้เดินทางไปพบเจอ ทุกคน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไร้การตระเตรียม จัดวาง มันเป็นความบังเอิญที่พอดิบพอดี สิ่งสามัญธรรมดาที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำมีเพียงความหิว กระหาย ที่ร่างกายส่งสัญญาณให้รับรู้ เพียงเพราะร่างกายเป็นเพียงพาหนะนำพาเราไปสู่การค้นพบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ร่างกายไม่ได้ร้องขออะไรกับเรามากเพียงแค่การดูแลอย่างสมควร วันใดที่จิตเกิดความละโมภโลภมากซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของจิต เป็นความอยากที่เราไม่เท่าทันมันปรากฏขึ้นแบบมีเหตุมีผลและแนบเนียนเกินกว่าจะรู้ทัน เช่น ในวันที่อาจารย์เข็นตัวเองให้รีบเดินจากจังหวัดนครปฐมเพื่อไปยังราชบุรีเพื่อเลี่ยงการเดินบนถนนสายหลักที่มีรถพลุกพล่าน และเต็มไปด้วยมลพิษ เพื่อให้ถึงจุดเป้าหมายคือเพชรบุรีให้เร็วที่สุด ช่วงเวลานั้นร่างกายกลับประท้วงอย่างหนัก ธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟในร่างกายแปรปรวนจนอาจารย์แทบเดินต่อไปไม่ได้ ครั้นเมื่อนึกถึงคำพูดของพระอาจารย์ประดิษฐ์ อัตตมโนแห่งสำนักสงฆ์ชัยนาทวนาราม (วัดเขากระดี่) ที่ท่านกล่าวว่า

“ดูแลร่างกายนี้ให้ดี ยังต้องอาศัยร่างกายนี้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย” อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือไว้ว่า คำเตือนนี้ทำให้สำนึกได้ว่า ตนเองได้ปฏิบัติต่อร่างกายอย่างหยาบคาย ทำให้เกิดความสำนึกผิด ผิดเหมืือนกับที่เคยขับรถแล้วเครื่องยนต์ดับมีความร้อนสูงเกินปกติ แต่ไม่ยอมหยุดรถ ในที่สุดเครื่องก็ดับ …

ฉันอ่านถึงประโยคนี้แล้วก็คิดถึงตัวเอง ที่่ผ่านมาเราเองก็ใช้ร่างกายแบบไม่ประนีประนอม แม้ว่าจะป่วยไข้ แค่ไหนเราก็เพียงอัดยาเข้าไปเพื่อหลอกให้ร่างกายรับใช้เป้าหมายอย่างไม่ได้หยุดพัก คิดได้เช่นนั้นก็รู้สึกละอายแก่ใจ คิดได้เช่นนั้นก็ทำให้คิดได้ว่า เหตุผลที่อาจารย์ออกเดินในครั้งนี้ก็เพราะว่าการเดินเป็นขบวนการก้าวข้าให้พ้น

พ้นจากความรู้สึกเสียดาย..
พ้นจากความรู้สึกเกลียดชังต่อผู้อื่นที่ทำให้เป็นคู่แข่งขัน..
พ้นจากความรู้สึกกลัว ในความไม่แน่นอนต่างๆที่มีอยู่รอบตัว…

และการอ่านในครั้งนี้ทำให้ฉันเข้าใจความหมายของคำว่า ความเสียดาย ความเกลียดชัง และความกลัวในอีกมิติหนึ่งที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะชีวิตของคนเรานอกจากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วยังต้องเผชิญกับภาวะ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งคือมายาคติที่แต่ละคนปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ สุข สลับสับเปลี่ยนกันไปตลอดชีวิต

หากจริงแท้สิ่งที่เราทุกคนต้องพบเจอในทุกวินาทีมีเพียงแค่ทุกข์และสุข ฉันคิดว่าวันใดที่วางเฉยได้นั้นหมายถึงว่าเราเข้าถึงหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสียแล้ว แต่ก็ใช่ว่าใครทุกคนจะทำได้เพียงข้ามคืน สิบวันหรือยี่สิบปี และฉันคิดว่าขอค่อยๆทำความเข้าใจในชีวิตไปทีละส่วนอย่างมีสติให้ได้เสียก่อน

สิ่งที่อาจารย์วางใจและพูดถึงบ่อยครั้งในหนังสือเล่มนี้คือ “ความรัก” ในฐานะของคฤหัสถ์ ส่วนหนึ่งของชีวิตขับเคลื่อนด้วยพลังของความรัก รักภรรยา รักมิตรแปลกหน้า รักสัตว์ รักธรรมชาติ ทุกอย่างกระจ่างชัดเจน และเข้าใจง่าย การเข้าถึงแก่นแห่งพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องบวช แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมะได้จากการค้นพบจุดเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆระหว่างวัน และทุกเรื่องราวมีเหตุปัจจัยหนุนนำ และความรักในเพื่อนมนุษย์เป็นพื้นฐานที่อยู่ในใจของทุกผู้คนอยู่แล้ว หากปราศจากความกลัวเสีย ช่องว่างของความหวาดระแวงจะลดน้อยลง และสังคมก็คงสงบสุขมากยิ่งขึ้น

มีหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้หลังเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง อาจจะเพราะด้วยสติปัญญาและความรู้ที่สั่งสมมายังไม่ถึงพร้อม แต่ฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้มีโอกาสอ่านจนจบ แม้ว่างานการจะรัดตัว และยังมีธุระปะปังมากมายในชีวิต แต่ฉันอยากใช้ชีวิตให้ละเอียดขึ้น อย่างน้อยการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้สมองและร่างกายได้พักผ่อน แถมจิตใจอันเร่งรีบก็สงบงามขึ้นในทุกบรรทัดจนจบเล่ม.. ไม่มีข้อสงสัยในการข้อค้นพบใดๆของอาจารย์เพราะทุกเรื่องราวในชีวิตเป็น “ปัจจัตตัง” ซึ่งมีหมายความว่า สภาวธรรมหนึ่งที่บรรลุนั้น จะจริงแท้อย่างไร จะสงบเย็นแค่ไหน ก็รู้ได้เฉพาะตน(เท่านั้น)

สำหรับฉันจากได้รับการส่งต่อหนังสือเล่มนี้ โดยไม่ต้องเสียทรัพย์ จากใครสักคนที่ไม่รู้จักมาก่อน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหากเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็กำหนดขึ้นในใจของฉันมายาวนาน ว่า “อยากอ่าน” จนวันหนึ่งก็ “ได้อ่าน” อย่างง่ายดาย ถึงพร้อมทั้งเวลาและความรู้สึก.. หนังสือเดินสู่อิสรภาพ จึงให้ความหมายในใจฉันเท่ากับการ “ให้” โดยไม่หวัง(รับ)สิ่งตอบแทน และฉันจะเอาหนังสือไปคืนที่ชั้นวางตามเดิม เพื่อรอคอยนักอ่านคนต่อไป…และให้หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

Share Button