“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี หากเราไม่อยากให้จิตวิญญาณหดเล็กเท่า…ฮิคกอรี่นัท

“ย่าบอกว่า ถ้าเราใช้จิตวิญญาณไปในทางโลภโมโทสันหรือเลวทราม ถ้าเราชอบทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอ และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท”

“ย่าบอกว่า เรารู้ได้ไม่ยากว่าใครเป็นคนตาย…เมื่อเขามองผู้หญิง เขาไม่เห็นอะไรนอกจากคิดสกปรก เมื่อมองต้นไม้ เขาไม่เห็นอะไรนอกจากไม้ซุงและผลกำไรมิใช่ความงาม ย่าบอกว่า พวกนี้แหละคือคนตายที่ยังเดินอยู่ทั่ว ๆ ไป”

“ย่าว่า จิตวิญญาณเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ…ถ้าเรายิ่งใช้มัน มันก็จะใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น ย่าบอกว่าทางเดียวที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็โดยใช้จิตวิญญาณในการทำความเข้าใจ”

“ย่าว่าโดยธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน ผมจึงเข้าใจว่า ผมจะต้องเริ่มพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง เพราะแน่นอนว่า ผมไม่อยากให้จิตวิญญาณเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท”

เหมือนจะรู้ว่าฉันได้อ่านถ้อยความบนปกหลังของหนังสือเล่มสีเขียวโทนต้นไม้นั่นจบลงแล้ว หลานสาววัย 11 ขวบ ที่แอบมายืนอยู่ข้าง ๆ ได้สักพักจึงถามขึ้น “อา…เลือกหนังสือได้บ้างหรือยังคะ อย่าลืมเลือกให้หนูด้วยนะ” หลานสาวตัวสูงเอียงคอถาม ซึ่งเกือบทุกครั้งที่เรามาร้านหนังสือมือสองด้วยกัน เธอมักจะบอกกับฉันแบบนี้เสมอ

ฉันส่งยิ้มให้หลานสาวพร้อมกับมองไปที่มือน้อย ๆ ของเธอ เห็นหนังสือกึ่งเก่ากึ่งใหม่อยู่ในมือเธอแล้วประมาณ 2-3 เล่ม “เอ…อาก็เห็นหนูเลือกได้ตั้งหลายเล่มแล้วนี่นา” ฉันแอบเย้า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วฉันเองก็ได้แอบเลือกหนังสือไว้ให้เธอเหมือนทุกครั้งที่เราเข้าร้านหนังสือด้วยกัน “แหะ ๆ หนังสือที่หนูเลือกเองอ่านไม่สนุกเท่ากับหนังสือที่อาเลือกให้น่ะค่ะ” หลานสาวส่งยิ้มเขิน ๆ ให้ ก่อนจะขอตัวเดินไปดูหนังสือที่อยู่ด้านในต่อ

“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี คือเล่มที่ฉันตั้งใจเลือกให้เธอ…และเป็นหนังสือที่ฉันเคยอ่านเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งนั้นฉันได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือยอดนิยมแห่งหนึ่วในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ด้วยเพราะประทับใจในเนื้อหาที่อยู่หลังปกหนังสือ และเมื่อได้อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจถ้อยความเนื้อหาด้านใน ที่บรรจุเรื่องราวคล้ายกับตัวละครทุกตัวมีชีวิตอยู่จริง ขณะที่อ่าน ฉันสัมผัสได้ถึงสายลมป่าบางเบากระทบใบหน้า เสียงไหลรินของลำธารที่มาจากภูเขา ความประทับใจที่มีต่อปู่และย่าแห่งสายเลือดเชโรกี จนพาลคิดไปว่า อยากเป็นเด็กน้อย “ลิตเติ้ลทรี” คนนั้น และฉันมักจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเสมอทุกครั้งที่คิดถึง “ลิตเติ้ลทรี”

แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องย้ายที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้หายไป แต่ก็ยังคงเป็นหนังสือเล่มโปรดอีกหนึ่งเล่มในชีวิต ที่ยังคงประทับใจ และมุ่งหวังอยากให้คนที่ฉันรักทุกคนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันเชื่อว่า เรื่องราวและถ้อยความดี ๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้พวกเขาเกิดความซาบซึ้ง มีความสุข และอยากดูแลจิตวิญญาณของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะกลัวว่ามันจะหดเล็กเท่าฮิคกอรี่นัท…

ครานั้นฉันเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นต่างจังหวัดที่อยากเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง เมืองศิวิไลซ์ เมืองแห่งความฝันของหลายคนอย่างกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ฉันได้พบเจอผู้คนมากมาย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนเห็นแก่ตัว คนโกหก หลอกลวง คนที่ชอบหักหลัง เจ้านายที่ชอบเอาหน้า คนที่จนมาก ๆ และมีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดคนที่รวยมาก ๆ และกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม กลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ และชะตากรรมของผู้คนที่ต้อยต่ำ ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ที่ฉันได้เห็นมันอย่างใกล้ชิด ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้นก่นด่าโชคชะตาชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่โชคชะตาของคนที่ดูต่ำต้อยด้อยค่าเท่านั้น แม้แต่โชคชะตาของตัวฉันเอง ก็ยังไม่อยากยอมรับมัน เพราะหลายครั้ง ฉันก็เป็นคนที่เผลอเหยียดคนอื่นเสียเอง

จนกระทั่งมีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจ “โลก” เข้าใจ “มนุษย์” เข้าใจ “ตัวเอง” และเข้าใจแก่นสำคัญของการที่ว่า “มนุษย์เราทุกคนควรดูแลจิตวิญญาณของตัวเอง” ทำให้ฉันมองโลกและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หนังสือเล่มนั้นก็คือ “ลิตเติ้ลทรี” (The Education of Little Tree) ผลงานการเขียนของ “ฟอเรสต์ คาเตอร์” และแปลโดย “กรรณิการ์ กรมเสาร์” จากบทนำของเรื่องได้เล่าว่า “ลิตเติ้ลทรี” เป็นวรรณกรรมที่เล่าขานชะตากรรมของชนเผ่าเชโรกี อันเป็นชนกลุ่มน้อยในอเมริกา ซึ่งถูกรุกรานโดยคนผิวขาวซึ่งยุคนั้นคนขาวมีวิธีคิดแบบ “อัตนิยม” หรือ “ความถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว” และตัดสินคนอื่นที่แตกต่างไปจากตนว่า เลวร้าย โง่งม นอกรีต ฉะนั้น จงเชื่อฟังและเดินตามอย่างเชื่อง ๆ แล้วท่านจะเจริญเหมือนพวกเรา…นี่คือชะตากรรมของผู้ต่ำต้อยซึ่งปรากฎให้เห็นทั่วโลก แม้แต่ในเมืองไทยของเราเองก็มีให้เห็นกันอยู่มาก ชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์หรือแม้แต่คนจน ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน…นี่คือถ้อยความง่ายงามที่กระจายดั่งนกโบยบินอย่างอิสระเสรีในหนังสือที่ชื่อ “ลิตเติ้ลทรี”

“ลิตเติ้ลทรี” บอกเล่าถึงความรัก ความผูกพันที่อบอุ่นระหว่าง มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ธรรมชาติ และบอกเล่าถึงโศกนาฎกรรมชะตาชีวิตอันชวนสลดหดหู่ และยังวิจารณ์สังคมด้วยอารมณ์ขันขื่น ถ้อยความใน “ลิตเติ้ลทรี” ยังสอนเราทางอ้อมอีกว่า มนุษย์ทุกคนควรลดความหยิ่งลำพองของตนลงเสีย และกลับมาทบทวนตัวตนเสียใหม่ ว่าเราไม่ใช่เราเท่านั้น แต่เราคือนก แม่น้ำ ป่าไม้ ทั้งหมดนี้เป็นเราแม้จะไม่ได้อยู่ในตัวเรา เพราะเมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมจะไม่ทำลายสิ่งอื่น เช่นเดียวกับที่เราไม่ทำร้ายตัวเราเอง

ชีวิตของ “ลิตเติ้ลทรี” สายเลือดแห่งชนเผ่าเชโรกีเริ่มต้นขึ้น เมื่อเด็กชายวัย 5 ขวบต้องเสียพ่อกับแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ และบรรดาญาติพี่น้องก็ได้พากันขบคิดว่าเด็กชายจะไปอยู่กับญาติคนไหนดี ดูเหมือนจะไม่มีใครอยากรับเขาไปเลี้ยง พวกเขาสนใจแต่ข้าวของที่บ้านของเด็กชายที่กำลังแย่งกันเอากลับไปเป็นของตัวเองเท่านั้น และท้ายที่สุดแล้ว เด็กชายตัวน้อยก็ได้ไปอยู่กับปู่ที่เป็นลูกครึ่งเชโรกี และย่าที่มีสายเลือดเชโรกีเต็มตัว ในกระท่อมเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางป่า มีลำธารสายเล็กที่น้ำไหลลงมาจากภูเขา เนื้อหาค่อย ๆ เล่าถึงชีวิตของเด็กชายวัย 5 ขวบนับจากที่ได้มาอยู่ในอ้อมกอดของปู่และย่า ตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวัน การทบทวนถึงรากเหง้าของตัวเอง เล่าถึงความผูกพันที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การยอมรับและรู้ที่มาที่ไปของชาติกำเนิดตัวเอง หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงานของเชโรกีที่ต้องติดต่อกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ฉันวาง “ลิตเติ้ลทรี” แทบไม่ลง และหยิบมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งเมื่อคิดถึงย่า ปู่ และลิตเติ้ลทรี

อ่านทุกครั้งก็ตอกย้ำให้ฉันได้เห็นตัวเองมากขึ้น และคอยเตือนตัวเองว่าควรรักษาจิตวิญญาณของตนเอาไว้ให้ดี มีสติที่จะไม่โลภโมโทสัน ทำเรื่องเลวทราม ทำร้ายผู้อื่น และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ เพราะย่าของลิตเติ้ลทรีบอกว่า ถ้าเราเป็นคนอย่างนั้น…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท.

และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ทุกครั้ง ฉันก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมฉันต้องอยากมาใช้ชีวิตที่เมืองใหญ่แห่งนี้ เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนแปลกหน้า ตึกรามบ้านช่องที่บดบังท้องฟ้า ดวงดาว ต้นไม้ใบหญ้าก็ยากที่จะได้เห็น อยากเห็นต้องไปที่สวนสาธารณะ อะไรอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ ๆ ฉันเกิดมา มีทั้งป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ธรรมชาติ และที่สำคัญมีครอบครัวที่ยังรักและรอวันที่ฉันกลับไปอยู่เสมอ นอกจากนั้น “ลิตเติ้ลทรี” ยังทำให้เราคิดถึงครอบครัว คิดถึงชาติกำเนิด คิดถึงบ้าน ซึ่งก็คือ “บ้านของเรา” จริง ๆ คิดถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเอง มองเห็นความสุขที่แท้จริงที่อยู่เหนือไปจากเรื่องวัตถุ และเงินทอง…ว่าแท้จริงแล้วความสุขของคนเราควรมาจากข้างใน และการมีใครสักคนที่รักและเข้าใจ อย่างนั้นมิใช่หรือ

บางส่วนบางตอนของบทที่อ่านแล้วชอบมากที่สุดอีกบทหนึ่งใน “ลิตเติ้ลทรี” คือในบท “วิลโลว์จอห์น” โดยเฉพาะเพลงในหน้าสุดท้ายของบทนี้ ที่ฉันอ่านแล้วต้องน้ำตาไหลทุกครั้ง เนื้อหาเพลงนั้นกล่าวไว้ว่า…

“ท่านจะไปกับฉันหรือเปล่า วิลโลว์จอห์น ไม่ไกลหรอก
หนึ่งหรือสองปี เท่าที่ท่านมีเวลา
เราจะไม่พูดคุยกัน ไม่บอกเล่าถึงความขมขื่นอันยาวนาน
อาจหัวเราะเป็นบางครั้ง หรืออาจหาเหตุผลสักข้อเพื่อร้องไห้
หรือบางสิ่งที่เราสูญเสียไป เราอาจค้นพบ
ท่านจะนั่งลงคุยกับฉันสักครู่ได้ไหม วิลโลว์จอห์น ไม่นานหรอก
เพียงนาทีเดียว หรือตามแต่เวลาที่ท่านมี
แค่มองหน้า เราต่างก็รู้ใจและเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน
เพื่อว่าเมื่อเราจากกันไป เราจะอุ่นใจว่าเราต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน
อย่ารีบไปได้ไหม วิลโลว์จอห์น? เพื่อเห็นแก่ฉัน
ความอ้อยอิ่งอาวรณ์จะช่วยปลอบโยนใจ
ความทรงจำจะช่วยระงับน้ำตามิให้รินไหล
เมื่อครุ่นคะนึงถึงท่าน ในห้วงปีที่เราจากกัน
คงช่วยบรรเทาใจเจ็บปวดซึ่งร่ำร้องถวิลหา…

และตอนนี้ฉันก็ได้หยิบ “ลิตเติ้ลทรี” ใส่ตะกร้ารวมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ไว้ให้กับหลานสาวตัวน้อยเรียบร้อยแล้ว…

ชื่อหนังสือ : ลิตเติ้ลทรี (The Education of Little Tree)
ผู้เขียน : ฟอเรสต์ คาเตอร์
ผู้แปล : กรรณิการ์ กรมเสาร์
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ 4

Share Button