เด็กในวันนี้ คืออนาคตของวันข้างหน้า

เด็กในวันนี้ คืออนาคตของวันข้างหน้า

“เด็กเยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ” คือคำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2562 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากคำขวัญดังกล่าวทำให้เห็นว่า การสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนประกอบสร้างตัวตนใหม่เพื่อเป็นคนมี “จิตอาสา” นั้นสามารถทำให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติได้อย่างแท้จริง

“กระบวนการจิตอาสา สร้างเยาวชนที่พัฒนาชาติได้อย่างไร”.. การปลูกฝังให้เด็กมีจิตใจอันเป็นอาสาเท่ากับการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้แก่หัวใจอันไร้เดียงสา แม้ว่าปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนจะบรรจุ ประเด็น “จิตอาสา” เอาไว้เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง แต่ดูเหมือนว่ากระบวนการเรียนรู้เรื่องจิตอาสาผ่านการลงมือทำจริงนั้น จะดูผิวเผินเพียงแค่ลงแรงและใช้กำลัง เช่นการเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้ายากจน การบริจาคทำบุญที่ทำแล้วจบเพียงครั้งเดียว ไม่ได้เกิดเรียนรู้แบบเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากสิ่งที่ตนเองทำกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาหนึ่งปัญหาใดที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเข้าใจ หรือรู้สึกประหนึ่งว่าได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้อื่น เช่นนี้จึงนับไว้เพียงว่าเป็นกระบวนการที่สร้าง Sympathy ซึ่งถือเป็นเพียงการฝึกให้เด็กมีความรู้สึกสงสารเห็นใจผู้อื่น ซึ่งมักมองเห็นจากมุมมองของตัวเองเป็นหลักและสร้างคุณค่าของการเป็นผู้ให้ ที่ดูสูงและยิ่งใหญ่กว่า

สิ่งสำคัญคือการส่งเสริมให้เด็กที่อยู่ในช่วงวัยกำลังเรียนรู้และสร้างแบบบุคลิกภาพก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านกิจกรรมจิตอาสาที่สร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือที่เรียกว่า Empathy เพราะทำงานจิตอาสาในรูปแบบที่ต้องเสียสละตนเองและทำประโยชน์ให้สังคม จึงถือเป็นกระบวนการที่ดีงามที่สุด โดยการให้เขาได้มีโอกาสลงมือทำจริง เห็นและเรียนรู้ผู้คนที่มีความแตกต่าง ในแง่ของความเป็นจริง ให้เขาได้สัมผัส คลุกคลีกับปัญหาเพื่อเรียนรู้ว่าโลกใบนี้มีความแตกต่าง สูง ต่ำ ดำ ขาว มีคนรวย คนจน คนเห็นแก่ตัว มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ปะปนอยู่ในชุมชนสังคม เมื่อเขาเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริงที่ทั้งสวยงามและโหดร้ายแล้ว เขาจะสามารถเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้งได้ เพราะนั่นคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาวัยรุ่น ด้วยเชื่อว่ากิจกรรมจิตอาสาจะช่วยสร้าง empathy หรือความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน

“Empathy” มีเอกลักษณ์ในคุณสมบัติที่เป็นของตัวเองอยู่สี่อย่าง อย่างที่หนึ่งคือการเอาทัศนคติของคนอื่นมาใส่ในใจเรา (perspective-taking) ซึ่งทัศนคติของคนอื่นตัวนี้ตัวเราเองอาจจะไม่เห็นด้วย หรืออาจจะไม่เข้าใจเลยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมเพื่อนสนิทของเรายังคบกับคนที่ทำให้เขาต้องมาร้องไห้กับเราถึงขนาดนี้ เเต่ perspective-taking คือการเข้าใจว่าในสิ่งที่เราไม่เข้าใจนั้นมันอาจจะเป็นความจริง (truth) สำหรับคนอื่นๆก็ได้

อย่างที่สอง คือการไม่ตัดสินใจความผิดถูกชั่วดีในสิ่งที่คนอื่นนำมาเล่าให้เราฟัง (หรือ staying out of judgment) อย่างที่สามเเละสี่ คือการอ่านความรู้สึกของคนอื่นเป็นเเละการสื่อสารให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างที่เขากำลังรู้สึกอยู่

เพราะฉะนั้นการปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนรู้จักมีจิตอาสาเพื่อสาธารณะจึงไม่ใช่แค่เพียงการลงมือทำกิจกรรมต่างๆ โดยปราศจากการมีส่วนร่วม สิ่งสำคัญในการสร้างการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตคือการให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมสร้างรูปแบบกิจกรรมอาสาผ่านการรู้ เห็น สัมผัสและปฏิบัติตามความเป็นจริง เพื่อพัฒนาคุณภาพทางด้านกายและใจ ให้เขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะของชาติ เป็นพลเมืองที่รู้ร้อนรู้หนาว และรับรู้ถึงปัญหาที่ซับซ้อนผ่านการคิดวิเคราะห์รอบด้านผ่านสองตาและสองมือที่กระทำจริง โดยไม่ตัดสิน วัดค่าและตีตรา ด้วยจิตใจของการเคารพในสิทธิและศักศรีดิ์ความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วยความจริงใจ

Share Button