โรงพยาบาลสถานที่สร้างสุข

      คนโดยทั่วไปมองว่าโรงพยาบาลเป็นที่ที่มีแต่ผู้ป่วย ความเจ็บปวด ความเศร้า ความหดหู่ น้ำตา และกลิ่นฉุนของยามองไปทางมุมไหนล้วนเต็มไปด้วยความทุกข์โศกเป็นสภาพแวดล้อมแบบนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกส่งผ่านจนกลายเป็นความเชื่อและถูกบอกต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งมันก็เป็นข้อเท็จจริง หากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นมันดูเลวร้ายและเรายังนิ่งเฉย แสดงว่าเราจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่ โรงพยาบาลแม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของความทุกข์ แต่เราก็สามารถโต้ตอบความทุกข์นั้นได้ด้วยเช่นกัน โดยการเข้าไปเพิ่มความสุขบุกยึดพื้นที่แห่งความทุกข์นั้นเสีย

     เช่นนั้นแล้วโครงการโรงพยาบาลมีสุข จึงมีแนวคิดว่าโรงพยาบาลไม่ควรเป็นได้แค่พื้นที่ของความทุกข์ แต่ว่ามันควรเต็มไปด้วยเรื่องราวดี ๆ ด้วย เช่น ความสุข ความช่วยเหลือ เสียงหัวเราะ มิตรภาพ กิจกรรมที่ผ่อนคลาย และที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทำให้โรงพยาบาลเป็นที่ที่สามารถเรียนรู้ได้ของคนในสังคมและเป็นได้มากกว่าโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยทางกายภาพ

   ดังนั้นการปฏิบัติการของโครงการโรงพยาบาลมีสุขจึงเข้าไปทำปฏิบัติการ และพัฒนาวิธีคิด รูปแบบ กิจกรรม “เพิ่มความสุข ลดความทุกข์” แก่ผู้ป่วยเด็ก ผู้ปกครอง/ญาติรวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ลดความตึงเครียด สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ในโรงพยาบาล โดยมี อาสาสมัคร เป็นกำลังสำคัญเข้ามาหนุนเสริม ทำให้โรงพยาบาลเชื่อมโยงกับสังคมในมิติอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ให้บริการทางการแพทย์เท่านั้น

b-happy1

ซึ่งแนวคิดเรื่องของการสร้างสุขในพื้นที่โรงพยาบาลนั้น ไม่ใช่เพิ่งเริ่มคิดหรือริเริ่มทำ ได้มีคนบางกลุ่มในโลกนี้ ที่ทำโรงพยาบาลให้เป็นได้มากกว่าโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยทางกายภาพ

เช่น มูลนิธิพุทธฉือจี้ ของประเทศไต้หวัน ซึ่งมีแนวคิดเรื่อง “ The Mission to be a Humane Docter ” = “ การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ” การบริการที่ทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางกายภาพและเรื่องของสภาพจิตใจได้เปลี่ยนโรงพยาบาลจากที่มีแต่ ความทุกข์ให้เป็นความสุข มีคนกว่า 5-6 ล้านคน เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร

b-happy2

เช่นเดียวกับมูลนิธิ Stichting Ambulance Wens ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ทำโครงการ “รถพยาบาลแห่งความหวัง” ช่วยเติมฝันให้ความปรารถนาสุดท้ายของผู้ป่วยใกล้สิ้นใจเป็นจริงเพราะเชื่อว่า การได้นำความหวังและชีวิตชีวามาให้คนไข้และครอบครัวในสภาวะที่หมดหวังอีกครั้งเป็นจุดเปลี่ยนให้กับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ผู้คนต้องเผชิญกับความตายอย่างมีความหมายและเปิดกว้างมากขึ้น

หรือที่โรงพยาบาลเด็ก ฟิลาเดลเฟีย ได้จัดให้มีกิจกรรม ศิลปะและดนตรีบำบัด ในโรงพยาบาลเพื่อให้เด็กสามารถรับมือกับการเข้าพักที่โรงพยาบาลได้ โดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ประเทศทางอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในยุโรป ได้มีอาสาสมัครบางกลุ่มแสดงเป็นตัวตลก บางกลุ่มใส่ชุดเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ หรือแม้กระทั้งดาราคนดังทั้งหลาย ได้ไปแสดงและให้กำลังใจแก่เด็กป่วย ตามเตียง สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับเด็กป่วยได้ไม่น้อย ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ขจัดความเบื่อหน่าย และความเหงาออกไป

“โรงพยาบาลสถานที่สร้างสุขนั้น เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ฉะนั้นมันย่อมเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยเช่นกัน”

 

ที่มาของภาพ : www.news.com.au, www.reddit.com, www.ecorazzi.com, www.happyhospital.org

 

 

Share Button